วิธีการก่ออิฐแดงหรืออิฐมอญ
เทคนิคการก่ออิฐมอญ สำหรับมืออาชีพเพื่องานก่อที่สวยงามเป็นมืออาชีพ โดยงานก่ออิฐนั้นสามารถประยุกต์ได้หลากหลายงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นก่อสวยงามโชว์ลวดลาย ก่อเพื่อเป็นงานผนังแข็งแรง หรืองานก่อเพื่อใช้ประดิฐเฟอร์นิเจอร์คอนกรีตทั่วๆไป
อิฐมอญหรืออิฐแดง เป็นอิฐที่ผลิตจากการนำดินเหนียวมาพิมพ์เป็นก้อนก่อนที่จะนำไปเผาด้วยความร้อนด้วยอุณหภูมิความร้อนตามแต่ผู้ผลิตกำหนด จากนั้นจึงสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ โดยสามารถแยกประเภทการใช้งานได้ดังนี้
1 งานก่อผนังทั่วไปที่เน้นความแข็งแรง เนื่องจากอิฐมอญนั้นผลิตจากดินเหนียวจึงมีความหนาแน่นมากและมีขนาดของอิฐที่เล็กเพียงแค่ ก6xย14xส3cm. ซึ่งแท้จริงแล้วขนาดของอิฐมอญนั้นมีมากมายหลายขนาดแต่ขนาดที่นิยมใช้ในงานก่อผนังเพื่อฉาบทับจะนิยมใช้ขนาดตามข้างต้นนี้ ซึ่งเนื่องจากอิฐที่มีความหนาแน่นและมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอิฐชนิดอื่น เมื่อนำมาก่อเป็นผนังจะทำให้ผนังแข็งแรงมากกว่าผนังทั่วๆไป ผนังที่ก่อจากอิฐมอญนี้จึงเป็นผนังที่มีความแข็งแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับผนังที่ก่อจากอิฐบล็อกและอิฐมวญเบา อ่านเพิ่มเติมงานผนังได้จากบทความนี้ คลิก เมื่อก่อเสร็จแล้วจึงทำการฉาบทับก่อนการสกิมและทาสีในขั้นตอนต่อไป
2 งานก่อผนังสวยงาม ในปัจจุบันมีสไตล์การตกแต่งหลายประเภทที่นิยมใช้การก่ออิฐโชว์แนวสวยๆ ไม่ว่าจะเป็น สไตล์ลอฟท์ อินดัสเทรียล หรือเนเชอรัล และอื่นๆ หากอยากเน้นรูปแบบที่แตกต่างมักจะใช้การก่อชนิดนี้ เรียกว่าก่อโชว์แนว หรือก่อสวยงาม จะชักร่อง(รอยต่อร่องปูนจะลึกลงไปจากตัวอิฐครึ่งเซนติเมตร)หรือไม่ชักร่องก็ขึ้นอยู่กับความชอบ การก่อโชว์แนวหรือลวดลายนี้จะต้องใช้ความสามารถของช่างก่อที่ต้องมีฝีมือต้องก่อได้ตรง ได้ระยะขนานและช่องไฟที่เท่ากันสวยงาม โดยอิฐที่ใช้ในงานก่อนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบว่าจะใช้แบบไหนขนาดเท่าไหร่
3 งานก่อเพื่อประโยชน์ใช้สอยต่างๆ เป็นการประยุกต์ใช้อิฐมอญเพื่องานก่อต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเตาย่าง ช่องกระถางต้นไม้ บ่อน้ำ ฯลฯ ตามแต่จะประยุกต์ซึ่งสามารถประยุกต์ได้อย่างมากมายเลยทีเดียว
ขั้นตอนการก่ออิฐโชว์ลวดลายให้มีประสิทธิภาพเหมือนมืออาชีพ
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดพื้นที่ที่จะก่อ เป็นการกำหนดระยะจากแบบที่มี ว่าเราจะก่อที่ระยะความกว้างเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ และเมื่อยิงระยะหรือทาบตลับเมตรกำหนดระยะได้แล้วให้ทำเครื่องหมายไว้
ขั้นตอนที่ 2 ถ่ายวัดระดับน้ำ เพราะพื้นที่จะทำการก่ออาจไม่ได้ระดับเสมอไปอาจมีที่ลาดเอียงบ้าง ซึ่งหากไม่ถ่ายระดับน้ำให้ตรงแล้ว แนวก่อจะเอียงไปตามพื้นลาดซึ่งดูไม่ดูสวยงาม แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการวัดระดับน้ำก็คือต้องถ่ายระดับเพื่อเป็นไกล์สำหรับการวัดแนวก่อในแต่ละชั้นให้ตรงเสมอกันทุกชั้น เพราะสิ่งที่เจอส่วนมากแนวก่อมักจะเอียงเสมอ หากไม่มีไกล์นำทาง
ขั้นตอนที่ 3 ขึงเอ็นเป็นแนวก่อ เมื่อถ่ายระดับน้ำได้แล้ว ให้ตอกหมุดขึงเส้นเอ็นไว้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งสำหรับแนวนอนนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าชั้นในแต่ละชั้นนั้นจะตรงกันเสมอ แนวก่อไม่เอียงไปทางไดทางหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 4 ผสมคอนกรีต การใช้คอนกรีตที่ผสมกันแต่ละชนิดจะมีผลต่อสีปูนของงานเมื่อเสร็จแล้วด้วย หากใช้ส่วนผสมแบบใดแล้วการผสมอัตราส่วนจะต้องเหมือนกันทั้งหมดทั้งแผง เพราะหากผสมคนละวัสดุคนละชนิดคอนกรีต สีปูนจะต่างกันทำให้งานออกมาไม่สวยงามมีตำหนิ การเลือกใช้คอนกรีตนั้นให้ผสมเป็นปูนทรายโดยใช้ปูนปอร์ตแลนท์(ปูนเขียว)ผสมทรายและน้ำจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากที่สุด
ขั้นตอนที่ 5 นำอิฐมอญแช่น้ำ การแช่น้ำจะทำให้น้ำซึมเข้าไปในตัวอิฐเพื่อเพิ่มการยึดเกาะกับคอนกรีตให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 6 เริ่มก่อชั้นที่1 ตีเต้า(อุปกาณ์ตีเส้นจากผงสี)ที่พื้นเพื่อกำหนดแนวก่อพร้อมกับขึงเอ็นแนวก่อตามตำแหน่งที่มาร์คเอาไว้แต่แรกจากการวัดระดับน้ำ วัดให้ได้ระยะตามต้องการว่าจะก่อโดยให้มีช่องว่างของชั้นปูนที่เท่าไหร่ ซึ่งโดยปรกติจะอยู่ที่ไม่เกิน2cm. เช่น อิฐสูง3cm.+ความสูงปูน2cm. ก็ให้ขึงเอ็นจากระดับที่มาร์คไว้ที่ระดับ5cm. จากนั้นฟรมน้ำที่พื้นให้เปียกแล้วจึงใช้เกียงสามเหลี่ยมปาดปูนในถังค่อยๆวางเป็นแนว ก่อนจะนำอิฐวางทับลงไปแล้วค่อยๆใช้ด้ามเกียงเคาะๆให้ผิวด้านบนเสมอกับเส้นเอ็นที่ได้ขึงเป็นระยะไว้ก่อนหน้านี้ บรรจงก่อไปเรื่อยๆโดยยึดระยะจากแนวเส้นเอ็นที่ขึงไว้เป็นหลัก ทำไปเรื่อยๆพร้อมกับเล็งอยู่เสมอ ทำไปจนจบชั้นที่1
ขั้นตอนที่ 7 เริ่มก่อชั้นที่2 ทำเหมือนชั้นแรกโดยใช้ตลับเมตรวัดขึ้นมาพร้อมกับขึงเอ็นตามระดับที่ต้องการ โดยในทุกๆชั้นให้ใช้ปรอดน้ำวัดอยู่เสมอทุกชั้นว่าแถวในแต่ละแถวตรงได้ระดับหรือไม่ หากประมาทไม่วัดอาจทำให้แถวเอียงได้
ขั้นตอนที่ 8 แต่งร่อง หากร่องของอิฐเป็นร่องแบบต้องยุบเข้าไปก็ให้ใช้เกียงค่อยๆปาดปูนออกให้ลึกเสมอกันทั้งแถวแต่ไม่ควรลึกเกินครึ่งเซนติเมตรเพราะจะทำให้ชั้นปูนเหลือเนื้อที่ยึดเกาะน้อยลงส่งผลให้ผนังแข็งแรงน้อยลง จากนั้นนำฟองน้ำชุบน้ำถูเช็ดให้เนื้อปูนเรียบสวย แต่หักไม่ชักร่องแต่เป็นปูนเสมอขอบอิฐก็ให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำค่อยๆเช็ดลูบให้ปูนเรียบสวยพร้อมกันนี้ยังได้เช็ดทำความสะอาดก้อนอิฐอีกด้วย
ขั้นตอนที่ 9 แต่งผิวด้วยกระดาษทราย เมื่องานก่อเสร็จสิ้นให้นำกระดาษทรายเบอร์กลางค่อยๆขัดอีกครั้งให้เนื้อปูนและอิฐเรียบสวยก่อนเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ 10 เคลือบเงา A100 เมื่องานก่อจบลงขัดกระดาษทราบและเช็ดทำความสะอาดแล้ว ก็นำน้ำยาเคลือบคอนกรีตทาหรือกลิ้งด้วยลูกกลิ้งให้ทั่วเพื่อให้ชักความเงาขี้นมา ทำให้ผนังเด่นและสวยงามมากขึ้น เป็นอันจบขั้นตอนการก่ออิฐแบบสวยงาม
โดยทั้ง 10 ขั้นตอนนี้เมื่อตั้งใจทำจะทำให้งานออกมาสวยงามดุจมืออาชีพและสามารถใช้กับงานก่ออิฐชนิดอื่นๆได้ทั้งหมด จึงเหมาะสำหรับมือใหม่หรือช่างทั่วไปที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้การส่งมอบงานแก่ลูกค้าที่ไม่ต้องมีการแก้งานแต่อย่างใดและยังสามารถเพิ่มความประทับใจในผลงานให้กับลุกค้าได้อย่างดีด้วย
งานก่อสร้างนั้นมีอยู่มากมายหลายขั้นตอนงาน แต่ทั้งหมดจะถูกรวมอยู่ในอาคารหนึ่งหลัง ซึ่งถ้าเราตั้งใจทำงานในทุกๆขั้นตอนให้ดีแล้ว เมื่อนำงานทั้งหมดมารวมกันเราจะได้บ้านหรืออาคารที่สมบูรณ์แบบ สวยงามและไม่เกิดปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน สำคัญนั้นอยู่ที่”ความใส่ใจ”
>>อ่านเพิ่มเติมงานผนังอาคารได้ที่นี่ คลิก
>>อิฐบล็อกกับอิฐมวลเบาเลือกใช้ยังไง คลิก
“เราเป็นมากกว่าบริษัทออกแบบก่อสร้างและตกแต่ง เพราะนอกจากเราจะเสนองานออกแบบและตกแต่งแก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ถึงขั้นตอนทางการก่อสร้างแก่ท่านควบคู่ไปด้วย เพราะมันคือสิ่งสำคัญเพื่อที่ท่านจะได้รู้ทันถึงขั้นตอนและมาตราฐานที่ดี นั่นก็เพื่อท่านจะได้ผลงานที่ดีกลับคืนสู่งานของท่านนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบตกแต่งภายในร้านอาหารทุกประเภทด้วยมัณฑนากรมืออาชีพและทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร