ล้านนากับงานตกแต่ง
สไตล์ล้านนา เป็นอีกหนึ่งสไตล์ที่ได้รับความนิยมในการตกแต่งทั่วๆไปในเขตภาคเหนือล้านนา แต่การตกแต่งให้ได้บรรยากาศที่เป็นล้านนาจริงๆก็ไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะร้านคาเฟ่หรือร้านอาหารต่างๆ ที่ต้องเน้นจุดขายคือบรรยากาศล้านนาเพื่อให้ลูกค้าที่มาได้ภาพถ่ายสวยๆกลับไป การตกแต่งในสไตล์ล้านนานั้นต้องตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน แต่ก่อนอื่นนั้นเรามาทำความเข้าใจและศึกษาเกี่ยวกับล้านนากันก่อน
ล้านนาคืออาณาจักรหนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือของอาณาจักรอยุธยาและสุดท้ายผนวชเป็นประเทศราชของอาณาจักรธนบุรีจนถึงปัจจุบัน อาณาจักรล้านนานั้นเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1839 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ และได้ดำรงอยู่ต่อมา 600 ปีเศษจนถึง พ.ศ. 2442 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศยกเลิกหัวเมืองประเทศราช ซึ่งมีผลให้อาณาจักรล้านนาซึ่งอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชเปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลพายัพ และหลังจากนั้นแบ่งการปกครองเป็นจังหวัดต่างๆเช่นภาคเหนือในปัจจุบัน
เพื่อให้เข้าใจในองค์ประกอบของเรือนไทยสไตล์ล้านนา จึงควรเข้าใจถึงอดีตก่อน เมื่อเข้าใจแล้วจึงจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีในปัจจุบันได้ โดยลักษณะของเรือนไทยล้านนาดั่งเดิมจะมีองค์ประกอบดังนี้
1 ข่วงบ้าน ลักษณะเป็นลานดินกวาดเรียบกว้างเป็นลานอเนกประสงค์ ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเล่นของเด็ก ลานตากพืชผลทางการเกษตร เป็นลานที่เชื่อมเส้นทางสัญจรหรือทางเดินเท้าให้เข้าสู่ตัวอาคาร และกระจายไปสู่ลานในบ้านข้างเคียงและถนนหลัก
2 บันไดและเสาแหล่งหมา ตัวบันไดเรือนจะหลบอยู่ใต้ชายคาบ้านด้านซ้ายมือเสมอ จึงต้องมีเสาลอยรับโครงสร้างหลังคาด้านบนตั้งลอยอยู่ แต่โดยทั่วไปเรือนไม้มักจะยื่นโครงสร้างออกมาอีกส่วนหนึ่งโดยทำเป็นชายคาคลุมบันไดหรือเป็นโครงสร้างลอยตัว ส่วนเรือนแฝดประเภทมีชานเปิดหน้าเรือน ไม่หลบบันไดเข้าชายคา แต่จะวางบันไดชนชานโล่งหน้าเรือนอย่างเปิดเผย “เสาแหล่งหมา” คือเสาลอยโดด ๆ ต้นเดียว ที่ใช้รับชายคาทางเข้าซึ่งมาจากการที่ชาวเหนือนำหมามาผูกไว้ที่เสานี้นั่นเอง
3 ชานเรือน คือพื้นไม้ระดับต่ำกว่าเติ๋น มักไม่มุงหลังคา เสารับชานเรียก เสาจาน ที่สุดช่านด้านที่มีคันได(บันได) มักจะมีฮ้านน้ำ (ร้านน้ำ)
4 ร้านน้ำ หรือ ฮ้านน้ำ คือหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่ม พร้อมที่แขวนกระบวยหิ้งน้ำ สูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร หากหิ้งน้ำอยู่ที่ชานโล่งแจ้งเจ้าของบ้านจะทำหลังคาคลุมลักษณะคล้ายเรือนเล็ก ๆ เพื่อมิให้แสงแดดส่องลงมาที่หม้อน้ำ หม้อน้ำนี้ยิ่งเก่ายิ่งดี เพราะมักจะมีตะใคร่น้ำเกาะ ภายนอกช่วยให้น้ำในหม้อเย็นกว่าเดิม ข้าง ๆ หม้อน้ำจะวางซองน้ำบวย (ที่ใส่น้ำกระบวย) ทำจากไม้ระแนงเป็นรูปสามเหลี่ยมตัว V ใส่กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวต่อด้ามไม้สัก บางทีสลักเสลาปลายด้ามเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ น่าสนใจ
5 ตัวเติ๋น เป็นเนื้อที่กึ่งเปิดโล่ง มีขนาดไม่เล็กกว่าห้องนอนเท่าใดนัก ในกรณีของเรือนชนบทเป็นเนื้อที่ใช้งานได้แบบอเนกประสงค์ ถ้ามีแขกผู้น้อยมาหาเจ้าของบ้านจะนั่งบนเติ๋นแขกนั่งบนชานบันไดหรือเนื้อที่ที่มีระดับต่ำกว่า ถ้ามีแขกมีศักดิ์สูงกว่า เช่น ผู้ใหญ่ พระสงฆ์ เจ้าของบ้านก็จะนั่งถัดลงมา งานสวดศพก็จะใช้เนื้อที่นี้ประกอบพิธีกรรม ในกรณีที่มีลูกสาว ในเวลาค่ำคืนพวกหนุ่มก็มาแอ่วสาวที่เติ๋นนี้เอง เรือนที่มีห้องนอนเดียวก็จะใช้เติ๋นเป็นที่นอนของลูกชาย ลูกผู้หญิงนอนกับพ่อแม่ ลูกชายประเภทแตกเนื้อหนุ่มออกเที่ยวยามค่ำคืนกลับมาดึกดื่นไม่ต้องปลุกใครเข้านอนได้เลย
6 ห้องนอน ในระดับเรือนชนบทห้องนอนจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ใช้งานอื่น ๆ ฝาด้านทึบจะอยู่ชิดเติ๋น ประตูทางเข้าจะเปิดที่ผนังด้านโถงทางเดินที่ใช้ติดต่อกันทั้งบ้าน ส่วนเรือนไม้และเรือนกาแลที่มีตั้งแต่สองห้องนอนขึ้นไปบางทีรวมเนื้อที่ห้องนอนทั้งหมดแล้ว อาจจะเท่าเติ๋นหรือเล็กกว่าเล็กน้อย ห้องนอนในเรือนกาแลมักจะมีขนาดใหญ่ ฝาล้มออก จะจัดเนื้อที่ห้องนอนออกเป็นสองส่วนซีกหนึ่งใช้เป็นที่นอน อีกซีกใช้วางของ ระหว่างเนื้อที่ทั้งสองซีกมีแผ่นไม้กั้นกลาง (ไม้แป้นต้อง) ไม้ตัวนี้จะตัดความสั่นไหวของพื้นห้องนอนออกจากกันด้วย เมื่อใช้เดินออกจากห้องนอนในยามเช้า ขณะที่ผู้อื่นยังหลับใหลอยู่ ทำให้พื้นที่ส่วนอื่นไม่ไหวไม่เกิดเสียงไม้เบียดตัวกัน
7 หิ้งผีปู่ย่า (หิ้งบรรพชน) เป็นหิ้งที่จัดสร้างเหนือหัวนอน ติดฝาด้านตะวันออกตรงมุมห้องอยู่ติดเสา หรือระหว่างเสามงคลและเสาท้ายสุดของเรือน มักทำเป็นหิ้งเล็ก ๆ ยื่นจากฝาเข้ามาในห้องมีระดับสูงเท่า ๆ หิ้งพระ ผีปู่ย่า หมายถึง วิญญาณของบรรพชนที่สิงสถิตในห้องนอนนี้ และให้การคุ้มครองแก่ทุกคนที่อาศัยในห้องนี้ บนหิ้งมักมีพานหรือถาดใส่ดอกไม้ธูปเทียนจากการเซ่นไหว้เป็นครั้งคราว และมีการเซ่นไหว้เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่นแต่งงาน เจ็บป่วย เป็นต้น
8 ห้องครัว จะอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องนอนเสมอ โดยแยกไปอีกหลังหนึ่ง โดยจะวางขนานกับเรือนใหญ่หรือเรือนนอน มีช่องทางเดินแยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน เนื้อที่ที่ใช้ตั้งเตาไฟจะยกขึ้นมาเป็นแท่นไม้อัดดินแน่น พวกอุปกรณ์หุงต้มต่าง ๆ จะจัดอยู่บนแท่นไม้นี้ เป็นการป้องกันอัคคีภัยอย่างหนึ่ง ทำงานแบบนั่งก็สะดวก ภายในเรือนครัวประกอบด้วยส่วนเตาไฟ ทำด้วยกระบะไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อัดด้วยดินให้แน่นและเรียบสูงประมาณ 20 ซม. เป็นที่ฝัง “ก้อนเส้า” มักทำด้วยดินกี่ (อิฐ) 3 ก้อน ตั้งเอียงเข้าหากัน เพื่อใช้เป็นเตาไฟ และวางหม้อแกง หรือหม้อนึ่งข้าวได้พอดี อาจจะทำ “ก้อนเส้า” ดังกล่าวนี้ 2 ชุด เพื่อสะดวกแก่การทำครัว ส่วนเหนือของเตาไฟจะมี “ข่า” ทำด้วยไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้เป็นตารางสำหรับย่างพืชผล และเป็นที่รมควันพวกเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า เพื่อกันตัวมอดและทำให้ทนทานอีกด้วย ตอนบนหลังคาระดับจั่วจะเจาะโปร่งเป็นช่อง เพื่อการระบายควันไฟขณะทำครัว
ทั้ง 8 องค์ประกอบนี้คือส่วนประกอบที่จะทำให้เรือนไทยสไตล์ล้านนาสื่อได้ถึงเอกลักษณ์ แต่ยังไม่ไช่การสะท้อนออกมาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีสัญลักษณ์ล้านนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้ภาพของล้านนาเด่นชัดขึ้น สัญลักษณ์ล้านนามีดังนี้
1 กาแล กาแลนั้นมาจากบ้านเรือนของชาวล้านนา โดยเรื่อนกาแลเป็นเรือนพักอาศัยทั่วไปที่คงทน (ต่างจากกระท่อม เรียกว่า ตูบ จะไม่ค่อยคงทน) มียอดจั่วเป็นกากบาท มีทั้งไม้ธรรมดาและไม้สลักอย่างงดงามตามฐานะ นิยมมุงแผ่นไม้เรียก “แป้นเกล็ด” แต่ปัจจุบันไม้เป็นวัสดุหายากมีราคาแพงจึงเปลี่ยนมาใช้ “ดินขอ” มุงหลังคาแทน ใช้วัสดุอย่างดี การช่างฝีมือสูงประณีต แต่มีแบบค่อนข้างตายตัว ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด มีขนาดตั้งแต่ 1 ห้องนอนขึ้นไป เรือนกาแลจะมีแผนผัง 2 แบบใหญ่ ๆ คือ แบบเอาบันไดขึ้นตรงติดชานนอกโดด ๆ กับแบบเอาบันไดอิงชิดแนบฝาใต้ชายคาคลุม แต่ทั้งสองแบบจะใช้ร้านน้ำตั้งเป็นหน่วยโดด ๆ มีโครงสร้างของตนเอง ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน หรือบางกลุ่มประกอบด้วยเรือนหลายหลังเป็นกลุ่มใหญ่ โดยกาแลในปัจจุบันจะถูกประยุกต์นำมาใช้ตกแต่งบนจั่วบ้านเพื่อให้สื่อถึงความเป็นสไตล์ล้านนาได้เด่นขึ้น
2 หำยน เป็นไม้แกะสลักเหนือช่องประตู เป็นแผ่นไม้ที่ชาวลาวล้านนาเชื่อว่าเป็นแผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ติดไว้เพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ผ่านเข้าสู่ห้องนอน ปัจจุบันถูกนำประดับบนผนังไม้เพื่อความสวยงามและเป็นสัญลักษณ์ล้านนาอีกด้วย
3 ตุง คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง ปัจจุบันถูกนำมาประดับเพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์ของล้านนาและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
4 โคมล้านนา เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวล้านนาและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา โดยชาวล้านนาจะประดิษฐ์โคมล้านนาในรูปลักษณะต่างๆ เช่น โคมดาว โคมผัด โคมแปดเหลี่ยม โคมหูกระต่าย โคมไห โคมรังมดส้มหรือโคมเสมาธรรมจักร เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือนมีหลากหลายรูปแบบตามแต่ละภูมิปัญญาของท้องถิ่น โคมล้านนาจะใช้ไม้ไผ่เหี้ย และไผ่ข้าวหลามมาสานขึ้นโครง เป็นตะกร้า หรือชะลอม จากนั้นนำกระดาษสา กระดาษแก้ว หรือผ้าดิบมาปิดทับโครงนั้น แล้วจึงตัดกระดาษสีเงิน สีทอง เป็นลวดลายลายสไตล์ล้านนาประดับตกแต่งลงไปอย่างสวยงาม แล้วจุดไฟลงไปในผางประทีป หรือน้ำมันไข เพื่อให้เกิดแสงสว่างในยามค่ำคืน ปัจจุบันนิยมนำมาประดับตามบ้านเรือน ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ที่ต้องการสื่อถึงความเป็นล้านนา และได้รับความนิยมอย่างมาก
5 ภาพวาดล้านนา เป็นภาพวาดที่เกี่ยวกับประเพณีของชาวล้านนา หรือภาพวาดของคู่รักจากจิตรกรชื่อดังเช่นปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฏอยู่ในสินค้าจำนวนมาก เช่น เสื้อยืด ไปรษณียบัตร หรือแม้แต่ข้าวของแต่งบ้าน ปัจจุบันภาพวาดล้านนาถูกนำมาประดับตกแต่งภายในร้านเพื่อให้เกิดความสวยงามและยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้งานตกแต่งนั้นสมบูรณ์อีกด้วย
6 ร่มล้านนา เป็นสิ่งที่นำมาประดับที่เป็นที่นิยม เนื่องจากความสวยงามของคันร่มและภาพวาดบนผืนผ้าร่ม นั้นสวยงามจนน่านำมาประดับตกแต่ง ร่มนี้จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการตกแต่งสไตล์ล้านนา
ทั้ง 6 นี้เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมที่เมื่อไหร่นำมาใส่นำมาประดับจะทำให้ได้กลิ่นอายของล้านนาขึ้นมาโดยทันที แต่การนำมาตกแต่งก็ไม่ควรมีมากหรือน้อยเกินไปเพราะจะทำให้ ขาดๆเกินๆ ไม่สวยและสมบูรณ์ การศึกษาข้อมูลและการไปเที่ยวชมตามสถานที่ที่มีการตกแต่งในแบบล้านนาต่างๆจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมากเลยทีเดียว
>>ตัวอย่างการตกแต่งสไตล์ล้านนา100% คลิกเลย
“เราเป็นมากกว่าบริษัทรับสร้างบ้าน เพราะนอกจากเสนองานออกแบบและสร้างบ้านให้แก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ในการออกแบบและความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างด้วย เพราะความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยให้ท่านรู้จริง รู้ทันช่างและได้รับแต่สิ่งที่ดีนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบตกแต่งภายในร้านอาหารทุกประเภทด้วยมัณฑนากรมืออาชีพและทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร