รั้วบ้านกับสิ่งที่ควรรู้ก่อนสร้าง
รั้วบ้าน หรือ รั้วอื่นๆที่ตั้งเพื่อกั้นแนวเขตที่ดินนั้น หากคิดจะทำก็ยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่อีกมากทีเดียว สิ่งที่ถูกต้องจะอยู่ในบทความนี้
เมื่อท่านซื้อที่ดินเปล่ามา1แปลง ถ้าคิดจะสร้างบ้านหรืออาคาร หากที่ดินที่ซื้อมานั้นต่ำกว่าระดับถนน ท่านย่อมต้องถมที่ดินนั้นให้สูงขึ้น โดยปรกติเพื่อป้องกันการขยายหรือซ่อมถนนในอนาคต จะต้องถมให้ที่ดินนั้นให้สูงขึ้นกว่าถนนขั้นต่ำ 50cm. เพราะอย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อมีการซ่อมปรับปรุงถนนในแต่ละครั้ง ถนนนั้นจะสูงขึ้นทุกครั้ง เมื่อถนนสูงขึ้นกว่าที่ดินจะมีปัญหาเวลาฝนตกได้ เพราะน้ำฝนจะไหลเข้าสู่ที่ดิน ทำให้ที่ดินรับน้ำจำนวนมาก ซึ่งอาจมีผลต่ออาคารที่พักอาศัยได้ การถมดินให้สูงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น (อ่านบทความดินถมได้ที่นี่ คลิก)
แล้วการสร้างรั้วนั้นต้องขออนุญาตหรือไม่?
ก่อนอื่นขอนำพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาอธิบายกันก่อน ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารได้กำหนดให้เราต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ไว้ดังนี้
“อาคาร หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้าสำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึง
(1) อัฒจันทร์หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน
(2) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอดเรือ รั้ว กำแพง หรือประตูที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะหรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย
(3) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(ก) ที่ติดหรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะและมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตรหรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม
(ข) ที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้วระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง
(4) พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถสำหรับอาคารที่กำหนดตามมาตรา 8 (9)
(5) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
โดยสรุปถ้ารั้วกั้นระหว่างเอกชนไม่ต้องขออนุญาตแต่ถ้ารั้วนั้นติดหรือใกล้ที่สาธารณะ(ถนน ซอย ของหลวง)จะต้องขออนุญาต กล่าวคือสมมุติว่าในที่ดินเรามี4ด้าน(หน้า หลัง ซ้าย ขวา) ใน3ด้านติดที่ดินคนอื่นนั้นไม่ต้องขออนุญาตแต่ด้านหน้าติดถนนสาธารณะนั้นจะต้องขออนุญาต
แต่หากรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินเอกชนด้วยกัน หากมีความสูงเกิน 10 เมตรขึ้นไป ก็จะต้องขออนุญาต ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2544 ข้อ 1
“ข้อ 1 ให้สิ่งทีสร้างขึ้นดังต่อไปนี้ เป็นอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
(1) ถังเก็บของที่มีความจุตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
(2) สระว่ายน้ำภายนอกอาคารที่มีความจุตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
(3) กำแพงกันดินหรือกำแพงกั้นน้ำที่ต้องรับความดันของดินหรือน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1.50 เมตรขึ้นไป
(4) โครงสร้างสำหรับใช้ในการรับส่งวิทยุหรือโทรทัศน์ที่มีความสูงจากระดับฐานของโครงสร้างนั้นตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และมีน้ำหนักรวมตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป
(5) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นนอกจาก (1) (2) (3) และ (4) ที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป”
และกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับรั้วไว้ดังนี้
ข้อ 5 รั้วหรือกําแพงกันเขตที่อยู่มุมถนนสาธารณะที่มีความกว้างตังแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกําแพงกันเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทํามุมกับแนวถนนสาธารณะ เป็นมุมเท่า ๆ กัน
ข้อ 42 กำหนดว่าการสร้างรั้วไม่ต้องร่นแนวอาคารจากที่สาธารณะอย่างอาคารอื่น ๆ
ข้อ 47 กำหนดว่ารั้วหรือกําแพงที่สร้างขึ้นติดต่อหรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้ว ให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ
แต่สำหรับความสูงของรั้วในเขตกรุงเทพมหานครนั้น มีข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 50 กำหนดไว้แบบนี้
“ข้อ 50 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร มิให้มีส่วนของอาคารล้ำเข้ามาในแนวร่นดังกล่าว ยกเว้นรั้วหรือกำแพงกั้นแนวเขตที่สูงไม่เกิน 2 เมตร”
นี่เป็นตัวอย่างของการเตรียมพร้อมที่จะสร้างบ้านและงานรั้วที่ท่านทราบดีแล้วว่า แบบไหนต้องขออนุญาตหรือทำได้ไม่ได้อย่างไร (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายก่อสร้างได้ที่นี่ คลิก)
ปัญหาของการสร้างรั้วบ้าน มีมากกว่าที่ท่านคิด โดยส่วนใหญ่ปัญหาที่พบมีดังนี้
1 มีปัญหากับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับแนวเขตที่ดิน เนื่องจากการสร้างรั้วเกินมาในเขตที่ดินของเพื่อนบ้าน การสร้างรั้วบ้านที่ถูกต้องนั้นต้องสร้างในเขตที่ดินของท่านเองไม่เกินหมุดของเขตที่ดินไปฝั่งของเพื่อนบ้านหรือเขตที่ดินอื่น และหากเพื่อนบ้านมาสร้างบ้านติดกับท่าน เพื่อนบ้านนั้นก็ต้องสร้างรั้วของตัวเองเช่นกัน หรือหากเจอหรือพบกัน ก็อาจตกลงขอใช้รั้วเดียวกันก็ได้ถ้าข้อตกลงตรงกัน โดยการใช้รั้วเดียวกันนั้นก็ให้สร้างทับตรงกลางหมุดเขตพอดี ก็จะหมดปัญหาเรื่องของข้อพิพาษในภายหลังได้
2 เพื่อนบ้านมาใช้รั้วเดียวกับท่าน เมื่อท่านสร้างบ้านก่อนและสร้างรั้วในเขตที่ดินของท่าน แต่เพื่อนบ้านที่มาสร้างบ้านในภายหลัง ไม่สร้างรั้วของตัวเองแต่กลับมาใช้ประโยชน์ร่วมกับรั้วบ้านท่าน อันนี้ก็เป็นข้อพิพาษหนึ่งที่ต้องมีการตกลงพูดคุยกัน ว่าความพอใจจะจบที่ตรงไหน ถ้าท่านไม่ติดใจก็ไม่มีปัญหาอะไร อันนี้อยู่ที่การตกลงร่วม แต่ก็เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นบ่อยๆเช่นกัน
3 ถูกรัฐสั่งให้รื้อถอนเนื่องจากผิดกฎหมายก่อสร้าง อย่างที่กล่าวในข้างต้นเกี่ยวกับกฎหมายการก่อสร้าง รั้วที่กั้นระหว่างเอกชนด้วยกันเองไม่ต้องมีการขออนุญาตแต่ประการไดและสามารถสร้างได้สูงไม่เกิน10 เมตรเพราะไม่ถือว่าเป็นอาคาร ส่วนการสร้างรั้วติดกับที่สาธารณะของทางรัฐนั้นต่างหากที่ต้องมีการขออนุญาต แต่หากท่านต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างบ้านอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เรื่องของรั้วก็จะถูกขออนุญาตในชั้นเดียวกันนั่นเอง แต่หากมีการสร้างรั้วภายหลังการสร้างบ้าน หรือสร้างรั้วก่อนการสร้างบ้านที่ต้องติดกับถนนสาธารณะอันนี้ต้องมีการขออนุญาต หากท่านไม่ขอและการก่อสร้างนั้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ปัญหาการถูกสั่งให้รื้อหรือแก้ไขก็เกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน การก่อสร้างที่ถูกต้องการสร้างรั้วที่ติดกัยถนนหรือทางสาธารณะนั้น ง่ายๆเลยคือให้ท่านสร้างรั้วในเขตหมุดที่ดินของท่านในความสูงของรั้วไม่เกิน3เมตร หรือในเขตกรุงเทพมหานครไม่เกิน2เมตร โดยไม่ต้องมีระยะร่นแต่อย่างได ระยะร่นมีเฉพาะตัวอาคารเท่านั้น เพียงเท่านี้ทางรัฐก็ไม่สามารถมาสั่งให้ท่านรื้อถอนได้ **นอกจากคำสั่งเวนคืนที่ดินในกรณีขยายถนนเท่านั้น**
4 รั้วล้มหรือเอียงจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตราฐาน คือการก่อสร้างที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตราฐานจากความไม่เข้าใจของช่างเอง กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจากการที่รั้วบ้านสร้างบนดินถมที่สูงกว่าระดับดินเดิมมากๆ หากเป็นเช่นนี้ควรมีการลงเสาเข็มและทำฐานรากรับเสา รวมถึงหากสูงกว่าระดับดินเดิมมากๆเช่นเกินกว่า 1 เมตรจากระดับดินเดิม ก็จำเป็นต้องใช้ฐานรากพิเศษ โดยเพิ่มคานดึงรั้งที่เรียกว่า “คานสเตย์” เข้าไป รั้วจึงไม่เอียงหรือล้มได้ในอนาคต แต่หากเป็นรั้วที่ระดับดินเดิมเท่าๆกันที่ไม่ไช่ดินถมก็ไม่จำเป็นต้องมีเสาเข็ม มีเพียงฐานรากอย่างเดียวก็สามารถสร้างได้
ในขั้นตอนการก่อสร้าง จะขอแยกการก่อสร้างรั้วที่ได้มาตราฐานไว้ 3 แบบด้วยกัน คือ
1 รั้วบนที่ดินเดิมที่มีระดับของพื้นที่เท่าๆกัน เป็นรั้วที่ก่อสร้างไม่ยาก เพราะมีระดับของที่ดินที่เท่าๆกัน แต่การก่อสร้างก็ควรได้มาตราฐาน โดยจะต้องมีการทำฐานรากเสารั้วด้วยเสมอ โดยมีระยะห่างของเสารั้วต้องไม่เกิน3เมตร สำหรับรั้วขนาดมาตราฐานสูงไม่เกิน2เมตรทั่วไปจะมีขั้นตอนการก่อสร้างที่ถูกต้องดังนี้
1) ขุดหลุมฐานราก ขุดหลุมรองรับตะกร้อขนาด 80x80x30 (ขึ้นกับความหนาของรั้วด้วย รั้วแต่ละแบบมีสไตล์การสร้างไม่เหมือนกัน ให้พิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง) โดยมีความลึกหลุม 60cm. จากนั้นจึงเทลีนก้นหลุม
2) ผูกเหล็กฐานราก ใช้เหล็กข้ออ้อย DB12มิล ทำตระกร้อขนาด70x70x15 วางลงในหลุม พร้อมประกอบแบบขนาด 80x80x30
3) ผูกเหล็กคาน โดยใช้เหล็กข้ออ้อย DB12มิล ผูกคานขนาด 30×10 พร้อมประกอบแบบขนาด 35×15
4) ผูกเหล็กเสา โดยใช้เหล็ก ข้ออ้อย DB12มิล ผูกเหล็กขนาด 15×15
5) เทคอนกรีต โดยใช้คอนกรีตสำเร็จขนาด KSC280 หรือคอนกรีตโครงสร้างผสมเองก็ได้แต่ให้ได้ตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด เทฐานรากและคานให้เป็นเนื้อเดียวกัน และบ่มคอนกรีตไว้3วันก่อนการแกะแบบ
6) เทคอนกรีตเสา ประกอบแบบเสาพร้อมเทคอนกรีตโครงสร้างหรือคอนกรีตสำเร็จขนาด KSC240 บ่มคอนกรีตไว้3วันก่อนการแกะแบบ
7) ก่ออิฐบล็อกตามแบบที่ได้ออกแบบไว้ และก่อสร้างขั้นตอนต่อจากนี้ตามหลักของสถาปัตยกรรมทั่วไป
2 รั้วบนที่ดินถมที่ระดับแตกต่างกัน โดยระดับดินเดิมก่อนถมต่ำกว่าระดับแนวสร้างรั้วไม่เกิน1เมตร จำเป็นต้องมีเสาเข็ม โดยเสาเข็มที่แนะนำคือเสาเข็มไอ15 ไม่แนะนำเสาเข็ม6เหลี่ยมและใช้คนขย่ม เนื่องจากเสา6เหลี่ยมนั้นกลวงไม่แน่นเหมื่อนเสาเข็มไอ และการใช้คนขย่มลงไปนั้น ไม่สามารถขย่มลงไปได้ลึดเท่าที่ควรเพราะคนขย่มย่อมมีกำลังจำกัด ความแข็งแรงของฐานรากจึงไม่สามารถเชื่อถือได้เท่ากับเสาเข็มไอ โดยเสาเข็มไอนั้นควรมีความยาว6-8เมตร ตกราคา500-800บาทต่อต้น ในขณะที่เสาเข็ม6เหลียม6เมตรราคา 300-400 บาท ท่านเพิ่มเงินอีก 200-300บาทต่อต้น ถือว่าไม่สูงและไม่มากด้วยเมื่อเทียบกับมาตราฐานที่จะได้รับที่ต่างกัน โดยการกดเข็มไอ15จะใช้รถแม็คโครขนาดPC120เป็นคนกดเสาเข็มลงไป ราคารถแม็คโครPC120 นี้อยู่ที่7,000บาท/วัน +ค่าขนย้าย 3,000-4,000บาท ใช้เวลาจ้างเพียง1วันรวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 11,000-13,000 เท่านั้น
เมื่อกดเข็มลงไปแล้วขั้นตอนการก่อสร้างรั้วก็เป็นรูปแบบขั้นตอนเดียวกับการก่อสร้างรั้วไม่มีเสาเข็มในหัวข้อที่1 ทุกประการโดยอาจเพิ่มตอม่อ50cm.เข้าไปด้วยเท่านั้น
3 รั้วบนที่ดินถมที่ระดับแตกต่างกันเกิน 1 เมตร ถ้าระดับดินแตกต่างกันมากกว่า 1เมตรขึ้นไปเนื่องจากการถมดินและดินยังไม่เซ็ทตัว เพื่อป้องกันการเอียงและล้มของรั้วกำแพงกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ฐานรากพิเศษ ที่เรียกว่า “คานสเตย์” เพื่อกันไม่ให้กำแพงเอนล้มไปด้านที่ระดับดินต่ำกว่าหรือระดับดินเดิม อีกทั้งยังต้องมีการออกแบบกำแพงกันดินทลายออกสู่ภายนอกด้วย โดยสเตย์นี้จะต้องมีการลงเสาเข็มด้วยเช่นกัน เท่ากับว่าในเสารั้ว1ต้นจะมี2เสาเข็มคือเสาเข็มรั้วและเสาเข็มของคานสเตย์นั่นเอง โดยขนาดของเสาเข็มควรใช้เสาเข็มไอขนาด15cm. ยาว6-8เมตร ฐานรากขนาด80x80x30cm. ตอม่อและคานสเตย์ขนาด 20x20cm หรือ 30x20cm.ก็ได้ขึ้นกับขนาดความสูงของดินถมและขนาดน้ำหนักของรั้วเป็นสำคัญ
เพียงเท่านี้การก่อสร้างรั้วบ้านของท่านทั้งข้อกฎหมายและมาตราฐานการก่อสร้างนั้นก็ถูกขยายความให้ท่านเข้าใจได้ถ่องแท้แล้วในบทความนี้
บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากรั้วกำแพงบ้านเกิดขึ้นอยู่2ปัจจัยคือความไม่เข้าใจข้อกฎหมายและมาตราฐานของการก่อสร้าง จึงเป็นปัญหาอย่างที่เห็นได้อยู่เนื่องๆ ส่วนการป้องกันรั้วล้มนั้นบางท่านอาจคิดว่าถ้าทำให้ถูกต้องตามมาตราฐานอาจมีราคาสูงเกินความจำเป็นเพราะมีขั้นตอนเข้ามาเพิ่มอีกมากมายเพื่อให้รั้วนั้นแข็งแรง แต่กลับกันหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายในการแก้งานจะมีสูงมากกกว่าทำให้ดีตั้งแต่ตอนแรก จึงอยากให้ท่านพิจารณาในเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจลงมือก่อสร้าง เพราะหากเกิดปัญหาไดๆขึ้นแล้ว การแก้ไขจะมีปัญหาและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามากเลยทีเดียวครับ
>>อ่านเพิ่มเติมบทความเกี่ยวกับสิ่งที่ควรรู้ก่อนการสร้างบ้านได้ที่นี่ คลิก
“เราเป็นมากกว่าบริษัทรับออกแบบก่อสร้างและรีโนเวทตกแต่ง เพราะนอกจากเสนองานออกแบบที่มีคุณภาพให้แก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ในการก่อสร้างเบื้องต้นให้แก่ท่านด้วยด้วย เพราะความรู้ที่ถูกต้องนั้น จะช่วยให้ท่านรู้จริง รู้ทัน อันจะทำให้ท่านได้รับแต่สิ่งที่ดีที่ถูกต้องนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบก่อสร้าง รีโนเวท และตกแต่งภายในอาคารทุกประเภทด้วยสถาปนิกและมัณฑนากรมืออาชีพ รวมถึงทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร