เทคนิคการต่อท่อน้ำประปา

ต่อท่อน้ำประปา

ต่อท่อน้ำประปาให้ไม่รั่ว

ต่อท่อน้ำประปา เชื่อว่าหลายท่านคงจะอยากจะต่อเองได้ ต่อเองเป็นซึ่งก็ไม่ไช่เรื่องยากอะไร แต่ถ้าต่อไม่เป็นก็เป็นปัญหาในภายหลังได้เช่นกัน หรือบางท่านต่อเองได้ก็อาจจะไม่ถูกต้อง วันนี้ผู้เขียนจะบอกวิธีการต่อท่อน้ำประปาที่ถูกต้องได้มาตราฐาน เพื่อให้ท่านสามารถต่อได้เองและถูกต้องไม่เกิดปัญหาในภายหลังได้ การต่อท่อน้ำประปาเพื่อการซ่อมแซมบ้าน เพิ่มตำแหน่งหรือเพื่อการอื่นนั้น มีวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องรู้จักกันก่อนดังนี้

1 ท่อน้ำประปาหรือท่อน้ำดี ท่อน้ำดีนี้ทำขึ้นจากโพลิไวนิลคลอไรด์ที่ไม่ผสมพลาสติกไซเซอร์ ซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการที่ได้ระบุใน มอก. คือ ท่อพีวีซีแข็ง แต่คนทั่วไปนั้นจะรู้จักมักคุ้นกันในชื่อท่อ PVC กันมากกว่า  โดยในปัจจุบันท่อชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการก่อสร้าง  เพราะด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติที่มีความเหนียวยืดหยุ่นตัวได้ดี  ทนต่อแรงดันน้ำ  ทนต่อการกัดกร่อน  ไม่เป็นฉนวนนำไฟฟ้าเพราะไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า  เป็นวัสดุไม่ติดไฟ  น้ำหนักเบาอีกทั้งยังราคาถูกอีกด้วย ท่อ PVC จึงถูกนำมาใช้ในงานหลาย ๆ ระบบ อาทิเช่น  ระบบประปา  ระบบงานร้อยสายไฟฟ้า  ระบบงานระบายน้ำทางการเกษตร/อุตสาหกรรม โดยท่อนี้มีความยาว 4 เมตร มีอยู่หลายยี่ห้อ ซึ่งจะแตกต่างกันที่ความแข็งแรง ความเหนียว และทนต่อแสงแดดได้ดีหรือไม่ ราคาต่างกันหลักไม่ถึงสิบบาทต่อเส้น การเลือกใช้ให้เลือกจากการใช้งานว่าใช้ภายในหรือภายนอก ถ้าใช้ภายนอกควรเลือกใช้อย่างดี เพื่อที่ท่อนั้นจะสามารถทนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดี ไม่ส่งผลให้กรอบและหักง่ายในอนาคต ส่วนการเลือกใช้งานภายในสามารถใช้งานในเกรดรองๆลงได้ ท่อPVCสำหรับน้ำประปา(สีฟ้า)นี้มีขนาดตั้งแต่ 1/2″ 4หุนขึ้นไป โดยในขนาดนี้สามารถใช้งานได้สำหรับงานบ้านทั่วๆไป แต่หากแรงดันน้ำแรงโดยปั๊มน้ำขนาดใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นงานร้านค้า โรงแรม รีสอร์ทและอื่นๆ ก็จะมีการขยับให้ท่อน้ำนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะขยับขึ้นมาโดยใช้ขนาด 6 หุน หรือ 3/4″ แทนขนาด 4 หุนซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ก็จะสามารถรองรับแรงดันน้ำที่มากขึ้นได้ หรือสำหรับงานบ้านที่ต้องการใช้น้ำแรงๆด้วยการติดปั๊มน้ำขนาดใหญ่ สำหรับการใช้ฝักบัวเรนชาวเวอร์ ก็จะขยับมาใช้ท่อน้ำขนาด 6 หุนเช่นกัน

ต่อท่อน้ำประปา
ท่อน้ำดีที่มีหลายขนาด การเลือกใช้ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน

2 ข้อต่อเพื่อเดินทิศทางต่างๆ จะเป็นข้อต่อท่อน้ำประปาเพื่อการต่อความยาวท่อ ดัดโค้งต่างๆ หรือการเพิ่มทิศทางเพิ่มสาย เลือกใช้ได้ตามประเภทการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ตัวต่อตรง ข้องอ สามทาง ฯลฯ ข้อต่อนี้ยังมีการลดขนาดให้ด้วย เช่น ท่อน้ำ6หุน จะต่อท่อน้ำเข้าก้อกขนาด4หุน ก็จะมีข้อต่อสำหรับลดขนาดจาก 6 หุนมา 4 หุนได้เช่นกัน

ต่อท่อน้ำประปา
ข้อต่อท่อต่างๆ

3 ข้อต่อสำหรับก็อกน้ำ ใช้สำหรับต่อเข้ากับระบบปล่อยน้ำไม่ว่าจะเป็นก๊อกน้ำ ฝักบัว สายชำระหรืออื่นๆ โดยข้อต่อก๊อกน้ำนี้จะมีทั้งแบบเกลียวนอกและเกลียวในขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ โดยตัวเกลียวนี้มีอยู่2ชนิดคือเกลียวPVCและเกลียวทองเหลือง เกลียวทองเหลืองจะทนต่อการสึกหรอและปริแตกเสียหายจากการพันเทปพันเกลียวได้ดี ทำให้ไม่ต้องแก้งานในกรณีที่พันเกลียวแน่นเกินไปจนเกลียวปริแตกได้สำหรับเกลียวPVCทั่วไป แต่ถ้าเป็นเกลียวทองเหลืองจะไม่มีปริแตกสามารถถอดออกมาพันใหม่ได้หลายรอบมากกว่า แต่มีราคาสูงกว่าประมาณ 10-20บาท

ต่อท่อน้ำประปา
ข้อต่อเกลียวในPVC
ต่อท่อน้ำประปา
ข้อต่อเกลียวนอกPVC
ต่อท่อน้ำประปา
ข้อต่อเกลียวนอกทองเหลือง
ต่อท่อน้ำประปา
ข้อต่อเกลียวในทองเหลือง

4 กาวทาท่อPVCหรือน้ำยาประสานท่อPVC เป็นกาวทาท่อ PVC ที่มีคุณสมบัติละลายเนื้อพีวีซี ให้ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นตัวทำละลาย 3 ชนิด คือ เมทิลเอทิลคีโทน เตตราไฮโดรฟิวราน และ ไซโคลเฮกซาโนน ใช้สำหรับการทาท่อก่อนประสานหรือต่อเข้าด้วยกัน

ต่อท่อน้ำประปา
น้ำยาประสานท่อหรือกาวทาท่อ ตรา ท่อน้ำไทย

5 ตัวตัดท่อ ใช้สำหรับตัดท่อน้ำPVCให้ขาดออกจากกัน มีอยู่ 2 ประเภทที่นิยนใช้ คือ เลื่อยตัดเหล็กและกรรไกรตัดท่อ การใช้เลื่อยนั้นอาจใช้เพราะไม่มีกรรไกรตัด เลยจำเป็นต้องใช้เลื่อยในการตัดแทน ซึ่งการตัดจะต้องเล็งให้ตรงก่อนตัดทุกครั้งเพราะระยะในการตัดด้วยเลื่อยนี้จะแม่นน้อยกว่าการใช้กรรไกร แต่ก็สามารถใช้งานได้เช่นกันไม่แตกต่าง เพียงแต่กรรไกรนั้นจะแม่นยำกว่าและไม่ต้องมาขัดเก็บรอยต่อ ทำให้ประหยัดเวลา

ต่อท่อน้ำประปา
กรรไกรตัดท่อที่ให้ความเรียบของผิวตัดและความแม่นยำในการตัดมากกว่า
ต่อท่อน้ำประปา
เลื่อยตัดเหล็กสามารถใช้ได้แต่ต้องขัดกระดาษทรายให้ผิวตัดเรียบก่อนการทากาว

6 ตัวยึดท่อ เป็นตัวยึดท่อน้ำให้เข้ากับพื้นหรือผนังให้แน่น ให้เป็นระเบียบไม่บิด ขยับหรือหลุดในขณะใช้งาน โดยมีให้เลือกทั้งแบบโลหะและPVC ขึ้นกับลักษณะงานว่าจะเลือกใช้แบบไหน ส่วนในแบบของPVC นั้นจะมีทั้งแบบก้ามปูและแบบครอบรัดท่อ ซึ่งขึ้นกับความชอบในการเลือกใช้ ถ้าเป็นแบบก้ามปูนั้นจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีจะเจาะรูยึดกับผนังเพียงแค่ 1รูทำให้จบงานรวดเร็วกว่าแต่ข้อเสียก็คือจะหลุดง่ายกว่าแบบครอบรัดท่อ และถึงแม้แบบครอบรัดท่อจะใช้การเจาะรู 2รู แต่ครอบปิดมิดหมดทำให้ท่อไม่สามารถขยับหรือหลุดได้เลย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำเป็นหลักว่าจะเลือกใช้แบบไหน

ต่อท่อน้ำประปา
ตัวยึดท่อแบบครอบ ที่ต้องมีการเจาะ2รูแต่ให้ความแน่นมากกว่า
ต่อท่อน้ำประปา
ตัวยึกท่อก้ามปูที่เจาะเพียงรูเดียวให้ความรวดเร็วแต่ท่อจะสามารถถูกดึงหลุดได้

มาถึงขั้นตอนการต่อท่อPVCด้วยน้ำยาประสานท่อหรือกาวทาท่อ ว่ามีขั้นตอนที่ถูกต้องอย่างไร

1 การวัดและตัด เป็นการวัดพื้นที่เพื่อคำนวณว่าจะตัดท่อที่ความยาวเท่าไหร่ก่อนนำมาต่อ การวัดพื้นที่ให้วัดจำนวนเมตรที่ต้องการวางท่อ หากความยาวมากกว่า 4 เมตรหรือหากต้องการต่อจากท่อเดิม ให้เผื่อระยะของการต่อข้อต่อตรงเข้าไปด้วย เช่น ท่อน้ำดีเดิมมีความยาว2เมตร พื้นที่ที่ต้องการวางใหม่คือ4เมตร ให้ตัดท่อใหม่โดยหักลบจากข้อต่อตรง วิธีการคือการนำข้อต่อตรงมาวางซ้อนกับท่อที่ต้องการต่อโดยให้มีระยะท่อที่จะต่อเข้าไปมีความลึกที่ 2.5cm.(คือระยะที่ทากาวแล้วต่อเข้ากับท่อต่อตรง) ทำแบบนี้ทั้ง2ด้าน ก็จะได้ระยะที่จะทากาวแล้วต่อท่อเข้าด้วยกัน โดยทั่วไปข้อต่อที่เป็นจุดเสียบท่อเข้าไปจะมีความลึกแน่นสุดที่ประมาณ2.5cm.หากไม่ถึงระยะนี้มีโอกาศรั่วซึมได้ การวัดให้วัดความยาวของส่วนที่จะเสียบเข้าไปในข้อต่อเข้าไปด้วยที่ระยะ2.5cm.ด้วย ระยะนี่ใช้ได้กับทุกๆข้อต่อ ไม่ว่าจะเป็นต่อตรง ข้องอ สามทาง ฯลฯ

การตัดหากไม่ได้ใช้กรรไกรตัดท่อและมีการตัดโดยการใช้เลื่อยตัดเหล็ก หลังตัดแล้วจะต้องใช้กระดาษทรายขัดรอยตัดให้เรียบและสะอาดไร้เศษไดๆ เพราะเศษเหล่านี้จะผสมกับน้ำประปาทำให้ท่ออุดตันในอนาคตได้

2 การประกอบโดยยังไม่ทากาว ประกอบท่อทุกๆส่วนเข้าด้วยกันโดยยังไม่ทากาว เพื่อเช็คว่าการต่อนั้นถูกต้องดีแล้วหรือไม่ ขาดส่วนไหนหรือเปล่า การต่อโดยไม่ทากาวระยะอาจจะเกินกว่าระยะจริงไปบ้างเพราะการที่ยังไม่ทากาวจะเสียบให้แน่นเหมือนทากาวไม่ได้ การทากาวจะมีความลื่นที่เสียบท่อเข้าไปได้ลึกกว่า เมื่อเช็คทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงค่อยๆถอดทีละส่วนออกเพื่อทากาวและติดตั้งในขั้นตอนต่อไป

3 การทากาวหรือน้ำยาประสานท่อPVC การทาน้ำยาประสานท่อหรือกาวทาท่อนั้นจะต้องทาที่ปลายท่อด้านนอกเท่านั้น ไม่ทาภายในท่อข้อต่อ เพราะเวลาต่อกันแล้วการทาที่ปลายท่อด้านนอกจะถูกข้อต่อดันกาวออก กาวไม่หลุดเข้าไปภายในได้ ตรงข้ามหากทากาวด้านในท่อข้อต่อ เมื่อดันท่อเข้าไปแล้ว กาวหรือน้ำยาจะอยู่ภายในท่อ ทำให้เกิดการผสมกับน้ำประปา ทำให้น้ำประปาอุดตันในอนาคตได้

ต่อท่อน้ำประปา
การทาท่อด้วยน้ำยาประสานท่อ

4 การต่อประกอบ ขั้นตอนนี้สำคัญอย่างมาก หากการต่อท่อเข้าไปหลังทากาวแล้ว ไม่ดันให้แน่นจะเกิดการรั่วซึมได้อย่างแน่นอน วิธีการที่ถูกต้องจะต้องดันท่อเข้าไปให้แน่นที่สุดโดยใช้2มือจับทั้ง2ด้านดันเข้าหากันให้แน่นที่สุดและนับในใจ 1-10(10วินาที)ถึงค่อยปล่อยมือออก ทำแบบนี้ไปทุกๆการต่อ จนเสร็จทุกจุด

5 การทดสอบ เมื่อต่อทุกทุกจุดเรียบร้อยให้ทดสอบโดยการเปิดน้ำ ให้แรงดันคงอยู่ในระบบ แล้วทดสอบด้วยวิธีการง่ายๆโดยเอามือที่แห้งแล้ว ลูบตามรอยต่อท่อหากไม่มีคราบน้ำให้ทดสอบจนครบทุกจุด เมื่อทุกจุดแห้งสนิดแสดงว่าไม่มีน้ำรั่วซึม นี่เป็นการเช็คด้วยวิธีง่ายๆ แต่หากเป็นงานระบบใหญ่จะใช้ปั้มแรงดันทดสอบกันเป็นบาร์ๆ แต่ถ้าทำเองอยู่บ้านก็สามารถเช็ครั่วได้โดยวิธีง่ายๆนี้ แต่หากเจอคราบน้ำแสดงว่าระบบรั่ว ให้ตัดและต่อใหม่ ซึ่งการแก้นี้จะยากกว่าทำให้ดีตั้งแต่ในตอนแรก เพราะต้องตัดและวัดต่อใหม่ และวนทำใหม่จนครบขั้นตอน

ต่อท่อน้ำประปา
สำหรับงานใหญ่ๆจะใช้ตัวทดสอบแรงดันแบบนี้ แต่หากเป็นการต่อเองก็สามารถใช้มือลูบรอยต่อเพื่อตรวจสอบการรั่วได้เช่นกัน

หากท่านต้องการต่อระบบประปาเพิ่มเติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโดยอยากลองทำดูเองแทนการจ้างช่าง ให้ใช้วิธีการตามที่ได้กล่าวมาทั้ง5ขั้นตอนนี้ ผู้เขียนรับรองว่าจะได้ระบบประปาที่ดี ไม่รั่วและมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอนครับ

>>หากบ้านท่านเหม็นอับลองอ่านบทความนี้ คลิก

“เราเป็นมากกว่าบริษัทรับออกแบบก่อสร้างและรีโนเวทตกแต่ง เพราะนอกจากเสนองานออกแบบที่มีคุณภาพให้แก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ในการก่อสร้างเบื้องต้นให้แก่ท่านด้วยด้วย เพราะความรู้ที่ถูกต้องนั้น จะช่วยให้ท่านรู้จริง รู้ทัน อันจะทำให้ท่านได้รับแต่สิ่งที่ดีที่ถูกต้องนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบก่อสร้าง รีโนเวท และตกแต่งภายในอาคารทุกประเภทด้วยสถาปนิกและมัณฑนากรมืออาชีพ รวมถึงทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้

สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร

        • นัดดูหน้างานได้ที่ 095-864-6299
        • ส่งภาพหน้างานและพูดคุยได้ที่ Line
          เพิ่มเพื่อน
        • Email : thaimawee@hotmail.com
        • ติดตามเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/weeinterior

         

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Verified by MonsterInsights