ตอม่อนั้นสำคัญไฉน
ตอม่อ หลายท่านที่กำลังสร้างบ้านหรือเคยสร้างบ้านอาจคุ้นๆบ้างกับคำว่า”ตอม่อ” แต่ท่านอาจไม่ทราบว่าตอม่อนั้นมีหน้าที่อะไร สำคัญหรือไม่ ในบทความนี้ท่านจะได้ทราบอย่างละเอียดเลยว่าตอม่อนั้นมีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว
ตอม่อก็คือเสาชนิดหนึ่งที่อยู่ระหว่างฐานรากและคานคอดินมีหน้าที่รับน้ำหนักที่ถ่ายลงมาจากอาคารลงสู่ฐานรากและเสาเข็ม นอกจากนั้นตอม่อทำหน้าหลักเป็นตัวกำหนดระยะของพื้นบ้านอีกด้วย เพราะพื้นบ้านหากออกแบบมาให้สูงจากพื้นดินเท่าไหร่ก็จะต้องมีตัวตอม่อเป็นตัวกำหนดระยะให้ได้ตามแบบ เนื่องจากเสาเข็มและฐานรากที่อยู่ในพื้นดินจะต้องอยู่ในระยะที่วิศวกรคำนวณไว้และอยู่ในชั้นดินเดิมเท่านั้นดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป
การออกแบบตอม่อ ตอม่อจะมีขนาดเท่าไหร่สูงเท่าไหร่อยู่ที่การคำนวณการรับแรงจากวิศวกรโดยตรงโดยอาจมีขนาดได้ตั้งแต่ 20x20cm.ขึ้นไปตามการรับแรงของอาคาร ส่วนความสูงของตอม่อนั้นจะสามารถหาได้จากการออกแบบอาคารโดยสถาปนิก โดยในส่วนขั้นตอนของการออกแบบอาคารโดยทั่วไปนั้นจะทำการออกแบบอาคารโดยสถาปนิกก่อนเมื่อได้แบบอาคารแล้วจึงส่งต่อให้วิศวกรโยธาออกแบบคำนวณโครงสร้างต่อไป ซึ่งวิศวกรจะออกแบบโครงสร้างจากพื้นฐานหน้างานของพื้นที่นั้นๆจากข้างเคียงเป็นหลักแล้วถึงคำนวณการรับแรงและขนาดโครงสร้างต่างๆเพื่อส่งขออนุญาต แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการก่อสร้างจริงก็จะมาสำรวจอีกครั้งเพื่อความแม่นยำ100% โดยวิศวกรจะนำความสูงของอาคารจากพื้นดินเป็นตัวตั้งและผลสำรวจดิน ณ สถานที่จริงมาประกอบ ตัวอย่างเช่น สถาปนิกออกแบบพื้นบ้านชั้น1ให้มีระดับลูกเล่นสูงจากพื้นดินที่1เมตร -หักเทพื้นปรับระดับพร้อมพื้นกระเบื้อง20cm. -หักระดับความสูงคานคอดินที่คำนวณรับน้ำหนักไว้แล้วอีก40cm. (1)ก็จะได้ระดับล่างสุดของคานคอดินอยู่ที่ความสูง40cmจากระดับพื้นดิน ต่อไปให้มาหาระดับของฐานรากว่าควรอยู่ใต้พื้นดินที่ระดับไหน โดยการสำรวจจากพื้นที่จริงโดยให้รถแม็คโครขุดดินเพื่อสำรวจดูว่าดินนั้นมีการถมหรือไม่ เพราะการวางฐานรากจะต้องวางไว้ใต้ระดับดินเดิมเสมอ(ซึ่งหากที่ดินดังกล่าวไม่มีการถมดินเลยก็อาจวางฐานรากไว้ที่ระดับ50-1m.ใต้พื้นดิน) แต่จากตัวอย่างหน้างานมีการถมดินสูง1m. ส่วนฐานรากมีการคำนวณความสูงไว้ที่60cm.วิศวกรคำนวณให้ฐานรากอยู่ที่ระดับเสมอดินเดิม (2)เท่ากับมีพื้นที่ของดินถมอยู่1เมตร ดังนั้นจึงได้ขนาดความสูงของตอม่อที่(1)+(2)=1.4m. นั่นเอง
ชนิดของตอม่อ ตอม่อนั้นมีอยู่2ประเภท คือตอม่อสำเร็จรูปกับตอม่อหล่อสร้างขึ้นเอง ตอม่อสำเร็จรูปจะมีความสะดวกสบายเนื่องจากนำมาวางให้ได้ศูนย์ตามฐานรากได้เลยประหยัดเวลาแต่มีราคาที่สูงกว่า ส่วนต่อม่อที่ก่อสร้างขึ้นเองจะต้องเสียเวลาบ่มคอนกรีตแต่ให้การยึดติดให้เป็นเนื้อเดียวกันมากกว่าแบบสำเร็จรูปจึงขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เป็นสำคัญ
การก่อสร้างตอม่อ หากเป็นแบบสำเร็จรูปให้เลือกขนาดให้พอดีกับการคำนวณก็สามารถนำมาวางให้ได้ศูนย์บนฐานรากพร้อมยึดโบลท์ให้เรียบร้อยก็เป็นอันเสร็จ ไม่ยุ่งยาก ส่วนตอม่อที่สร้างขึ้นเองจะต้องมีการเข้าแบบเพื่อเทคอนกรีตโครงสร้างสำหรับหล่อซึ่งโดยทั่วไปจะใช้คอนกรีตโครงสร้างสำเร็จเท่านั้นโดยความแข็งของคอนกรีตอยู่ที่การคำนวณแต่โดยมากมักใช้ความแข็งของคอนกรีตที่KSC280-KSC320 โดยเหล็กเส้นแกนในนั้นจะทำโผล่ขึ้นมาตั้งแต่ขั้นตอนของการผูกเหล็กเข้าแบบของฐานรากแล้ว ในส่วนของต่อม่อจึงแค่เข้าแบบเทคอนกรีตเท่านั้น เมื่อเทเสร็จทิ้งไว้2วันจึงแกะแบบและบ่มคอนกรีตด้วยการคลุมพลาสติกอีก20-28วัน ระหว่างช่วงเวลานี้สามารถผูกเหล็กเข้าแบบในส่วนของคานคอดินได้ จนเมื่อครบเวลาที่กำหนดจึงสามารถเทคอนกรีตในส่วนของคานคอดินได้ต่อไป
การตรวจสอบคุณภาพงาน การตรวจสอบคุณภาพงานของการก่อสร้างตอม่อนั้นสำหรับส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นตอม่อสำเร็จรูปหรือตอม่อหล่อสร้างขึ้นเองคือต้องตรวจให้ตอม่อนั้นตั้งอยู่กึ่งกลางศูนย์ของฐานรากพอดี เพื่อให้การรับน้ำหนักได้ดี สำหรับตอม่อสำเร็จรูปให้ตรวจการยึดโบลท์ซึ่งต้องแน่นแข็งแรงส่วนตอม่อแบบหล่อก่อสร้างเองให้ตรวจเหล้ว่าได้ขนาดตามที่ระบุไว้ในแบบหรือไม่และต้องอยู่กึ่งกลางของฐานรากเสมอและเมื่อเทคอนกรีตแล้วให้ตรวจใบคอนกรีต(จะได้รับใบนี้จากรถเทคอนกรีตสำเร็จเพื่อยืนยันความแข็งของStrengthคอนกรีต)ว่าความแข็งของคอนกรีตได้ตามสเปคที่ระบุไว้ในแบบก่อสร้างหรือไม่ รวมถึงตรวจขนาดความสูงของตอม่อให้เท่ากับระยะพื้นชั้น1ที่จะทำคานคอดินในขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อได้ทั้งหมดตามที่กล่าวข้างต้น ตอม่อนี้ก็พร้อมแล้วที่จะรับน้ำหนักของอาคารได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วไม่มีตอม่อได้หรือไม่? จริงๆแล้วตอม่อทำหน้าที่เป็นเสาและเป็นตัวกำหนดความสูงของพื้นชั้น1จากสภาพดินที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่ ซึ่งถ้าไม่มีตอม่อก็สามารถทำคานคอดินนั่งบนฐานราดได้เช่นกัน แต่มีข้อจำกัดว่าสภาพพื้นดินนั้นจะต้องไม่ผ่านการถมมาอย่างเด็ดขาด เพราะฐานรากจะต้องอยู่ในชั้นดินเดิมเท่านั้นอยู่ในชั้นดินถมไม่ได้เนื่องจากเราไม่ทราบว่าดินถมนั้นผ่านเซ็ทตัวดีแล้วหรือไม่จะรับน้ำหนักได้ดีหรือเปล่า รวมถึงต้องมีพื้นชั้น1ที่สูงไม่เกิน50cm.จากระดับพื้นดินถึงจะทำคานคอดินนั่งบนฐานรากได้โดยที่ไม่ต้องมีตอม่อ
นี่น่าจะเป็นบทความที่ครอบคลุมทั้งหมดแล้วของตอม่อในงานก่อสร้าง จะเห็นได้ว่าตอม่อมีความสำคัญต่องานก่อสร้างมากแค่ไหนและจำเป็นต้องมีเหมือนส่วนอื่นๆที่เราจึงควรให้ความสำคัญ และช่างเองก็ต้องมีความรู้และประสบการณ์มากเพียงพอ เพราะงานโครงสร้างนี้สำคัญจะทำแบบลวกๆหรือทำแบบไม่มีประสบการณ์ไม่ได้อย่างเด็ดขาด ผิดพลาดพลั้งไปหมายถึงชีวิตของผู้อยู่อาศัยเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้จึงอาจอธิบายได้ว่าตอม่อนอกจากทำหน้าที่รับน้ำหนักเมือนเสาต้นนึงแล้ว ยังทำหน้าที่กำหนดความสูงให้ได้ตรงตามแบบที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้ แต่สำคัญคือช่างก่อสร้างเองที่ต้องมีความรู้มากพอที่จะทำให้ตอม่อนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดที่มากกว่าเสาธรรมดาทั่วไป
>>อ่านเพิ่มเติมงานคานคอดิน คลิก
“เราเป็นมากกว่าบริษัทรับสร้างบ้านและรีโนเวท เพราะนอกจากเสนองานออกแบบและสร้างบ้านให้แก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ในการก่อสร้างด้วย เพราะความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยให้ท่านรู้จริงและรู้ทันช่างและได้รับแต่สิ่งที่ดีนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบตกแต่งภายในร้านอาหารทุกประเภทด้วยมัณฑนากรมืออาชีพและทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร