ฝ้าเพดานกับงานติดตั้ง
ทำฝ้าเพดานให้สวย เป็นเทคนิคของช่างฝ้าที่ต้องใช้ประสบการณ์ มีช่างฝ้าจำนวนไม่น้อยที่ทำงานออกมาไม่สวยตามที่เจ้าของงานตั้งใจให้เป็น
การที่มาเป็นช่างฝ้ามืออาชีพได้นั้นต้องเป็นลูกมือช่างมืออาชีพก่อนจนเมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ถึงจะมาลงมือทำเองให้ลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่อยากรับเหมาเองหรือรับงานหลายอย่างในบ้านหลังเดียวแล้วอยากรับงานฝ้าด้วยแต่ฝีมือไม่ถึงไม่ผ่านการฝึกมาจนชำนาญ จนเมื่อไปทำงานจริงจึงเกิดปัญหาขึ้นมากมาย เช่น
1 ฝ้าล้ม เนื่องจากโครงไม่แข็งแรง
2 ฝ้าเอียงไม่ได้ระดับ เนื่องจากขาดการถ่ายระดับ
3 เมื่อทาสีแล้วเป็นคลื่นไม่สวยงาม ขาดความชำนาญในการต่อแผ่นและฉาบขัด
นี่คือปัญหาที่พบได้ส่วนใหญ่จากการทำงานฝ้าที่ไม่ได้มาตราฐาน การทำงานฝ้าเพดานต้องมีการตรวจเช็คการทำงานเพื่อให้ได้งานที่ดี การทำงานฝ้าตามมาตราฐานสำหรับงานฝ้าเรียบโครงซีลายC-Line มีขั้นตอนการทำงานดังนี้
1 การหาระยะ เป็นการหาระยะความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานว่าเราต้องการความสูงที่ระดับเท่าไหร่ ในปัจจุบันนี้ถ้าเป็นบ้านสร้างใหม่ จะมีการกำหนดความสูงของฝ้าขั้นต่ำไว้ที่ 2.4m. เนื่องจากเป็นระยะที่โปร่งและทำให้อยู่สบาย ถ้าเป็นสมัยก่อนเมื่อ20-30ปีที่แล้ว ฝ้าจะมีความสูงเพียง2.2m.เท่านั้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัดและบ้านดูแคบไปในทันที เมื่อหาระยะความสูงที่ต้องการได้แล้วจึงต้องหาระนาบนอนให้ได้ระดับน้ำด้วยการถ่ายระดับจากสายยางวัดระดับหรือเครื่องวัดระดับด้วยเลเซอร์ วิธีที่สะดวกและรวดเร็ว ควรหาระดับด้วยการใช้ตลับเมตรดึงวัดมาจากระดับ “ออฟเมตร” หรือ OFFSET จะทำงานได้งายกว่า ระดับออฟเมตรคือระดับที่วัดมาจากระดับความสูงสุดท้าย(Finishing)ของกระเบื้องปูพื้น(หากยังไม่ปูพื้นให้เผื่อระยะไว้ก่อนล่วงหน้าว่าระดับกระเบื้องที่ต้องการจะอยู่ระดับไหน) เมื่อได้ระยะสุดท้าย(Finishing)แล้วจึงทำการวัดระดับขึ้นมา 1 เมตรแล้วถ่ายระนาบนอนให้ได้ระดับน้ำด้วยสายยางหรือเลเซอร์ระดับน้ำ ให้รอบห้องที่ต้องการแล้วขีดระยะไว้ จากนั้นดึงตลับเมตรจากออฟเมตรขึ้นมา1.4m. ก็คือระดับฝ้าเพดานพอดี คือระยะ 1+1.4=2.4เมตร
2 การตีฉากผนัง เมื่อได้ระนาบนอนที่ถูกต้องแล้ว จึงทำการตีฉากเข้ากับผนังตามเส้นระนาบนั้นโดยเผื่อความหนาของยิปซั่มไว้ด้วย9mm. เพื่อทำการยึด C-line และแผ่นยิปซั่มในขั้นตอนต่อไป
3 การการเดิน C-line แนวนอนและแนวตั้ง เดิน C-line แนวนอนโดยเว้นระยะห่างตามมาตราฐานไว้ที่ 40cm. เมื่อวางเสร็จสิ้นแล้วให้ทำการยึดให้แน่นด้วย C-line แนวตั้ง โดยแนวตั้งนี้เว้นระยะห่างมาตราฐานไว้ที่60cm. แล้วทำการยึด C-line แนวตั้งและแนวนอนเข้าด้วยกันด้วยคลิปล็อก
การเลือก C-line นั้นควรเลือกขนาดความหนาที่หนาหน่อยเพื่อความแข็งแรงควรมีความหนาอย่างน้อย 0.5mm. การเลือกใช้ความหนาน้อยกว่านี้จะทำให้ความแข็งแรงลดลง และระยะห่างควรเป็น 40x60cm. เท่านั้น
4 การยึดความแข็งแรงจากเพดานด้วนลวดโยง ความแข็งแรงที่สำคัญอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือการรับน้ำหนัก โดยการรับน้ำหนักนี้สิ่งสำคัญส่วนหนึ่งคือลวดที่ยึดกับเพดานคอนกรีตนั่นเอง การใช้ลวดเส้นบางเหมือนในอดีตที่ใช้ยึดกับฝ้าทีบาร์จะใช้ไม่ได้อีกแล้วเพราะรับน้ำหนักไม่ได้ดีและเสี่ยงต่อการขึ้นสนิม ควรใช้ลวดโยงสำหรับงานฝ้าซีลายโดยเฉพาะ โดยใช้เบอร์8 เป็นเบอร์ขั้นต่ำ โดยสิ่งสำคัญของขั้นตอนนี้คือการผูกเข้ากับ C-line แล้วดึงให้ได้ระนาบนอน เพราะการวาง C-line ในขั้นตอนที่ 3 จะมีการหย่อนห้อยท้องช้างจากความยาวมากกว่า3m.และน้ำหนัก จึงต้องมีการดึงขึ้นแล้ววัดตรวจระนาบอีกครั้งก่อนการยิงยิปซั่ม
5 การยิงแผ่นยิปซั่ม เลือกใช้แผ่นยิ่ปซั่ม 9mm. สำหรับงานทั่วไป แต่ถ้าเป็นที่ชื้นเช่นห้องน้ำหรือระเบียงควรเลือกใช้ยิปซั่มสำหรับกันชื้น จากนั้นยิงแผ่นยึดเข้ากับโครงฝ้าที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ โดยการยิงแผ่นควรตรวจรอยต่อให้ดีให้รอยต่อแผ่นเรียบเสมอกัน หากไม่เสมอกันจะเป็นปัญหาการฉาบและความเรียบของฝ้าได้ในอนาคต
6 การฉาบรอยต่อแผ่นและหลุมสกรูดำ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากอีกขั้นตอน งานฝ้าเรียบและสวยงามหรือไม่ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การฉาบด้วย หากการฉาบเป็นการหนาเพื่อเก็บร่องแล้วขัดไม่ทั่วถึงดีจะทำให้ฝ้าเป็นคลื่นได้เมื่อทาสีแล้ว
7 การขัดกระดาศทราย เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่ต้องขัดให้เรียบและบางที่สุด เพื่อไม่ให้รอยฉาบหนาเกินไปจนส่งผลให้ฝ้าเป็นคลื่นได้ การขัดในขั้นตอนนี้จะขัดง่ายก็มีส่วนมาจากการฉาบฝ้าที่ดีด้วยหากการฉาบหนา การขัดก็จะขัดลำบากและใช้เวลานาน หากขัดไม่ทั่วถึงก็จะส่งผลโดยตรงต่อการส่งงานได้เลย ซึ่งในทั้ง2ขั้นตอนนี้เพื่องานที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ช่างจะต้องมีความชำนาญในระดับสูงเลยทีเดียว
8 การทาสีรองพื้นและทาสีจริง การทาสีโดยเฉพาะสีมาตราฐานสีขาว แต่การเลือกใช้ควรเลือกใช้สีสำหรับงานฝ้าโดยเฉพาะ เพราะสีทาบ้านทั่วไป จะมีฟิล์มสีที่มันเงา(Gloss) กึ่งเงา(Semi-gloss)หรือฟิล์มสีแบบด้าน(Matt) ซึ่งแม้จะด้านแต่ก็ยังมีส่วนเงาอยู่บ้าง แต่สีทาฝ้าเพดานโดยเฉพาะนั้น จะมีฟิล์มสีแบบด้านพิเศษ (Super Matt) จึงช่วยลดปัญหาเรื่องของแสงสะท้อนได้ และไม่มีความมันเงาใดๆเลย เมื่อใช้งานแล้วจะทำให้ฝ้าเพดานดูเรียบเนียนสวยเป็นผืนเดียวกัน การเลือกซื้อสามารถสอบถามที่ร้านจำหน่ายสีได้ทั่วไป
ขั้นตอนการตรวจงานฝ้ามีการตรวจอยู่ 3ขั้นตอน ดังนี้
1 ตรวจความถี่ของ C-line ว่าได้ระยะ 40x60cm.หรือไม่ และ C-line ใช้ความหนามากกว่า0.5หรือไม่
2 ตรวจระนาบว่าตรงไม่เอียง เพื่อเช็คว่าฝ้าเพดานของท่านตรงได้ระนาบดี และฝ้าไม่ห้อยท้องช้าง
3 ตรวจความเรียบเนียนของฝ้าเพดาน ว่ามีการฉาบขัดที่เรียบเนียนเป็นคลื่นหรือไม่
งานฝ้าเพดานนั้นในขั้นตอนของการผลิตจะต้องใช้ความสามารถของช่างสูง แต่ท่านในฐานะผู้ว่าจ้างเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคต ท่านก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจงานเค้า เพราะงานที่ช่างจะส่งให้กับท่านนั้นหากมีปัญหาภายหลังการเรียกกลับมาแก้ไขโดยเฉพาะช่างทั่วๆไปนั้นจะเป็นการยากทีเดียว ทางที่ดีตรวจงานเป็นจะช่วยได้มากทีเดียวครับ..
>>อ่านเพิ่มเติมไอเดียฝ้าเพดานสวยๆได้ที่นี่ คลิก
“เราเป็นมากกว่าบริษัทรับออกแบบก่อสร้างและรีโนเวทตกแต่ง เพราะนอกจากเสนองานออกแบบที่มีคุณภาพให้แก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ในการก่อสร้างเบื้องต้นให้แก่ท่านด้วยด้วย เพราะความรู้ที่ถูกต้องนั้น จะช่วยให้ท่านรู้จริง รู้ทัน อันจะทำให้ท่านได้รับแต่สิ่งที่ดีที่ถูกต้องนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบก่อสร้าง รีโนเวท และตกแต่งภายในอาคารทุกประเภทด้วยสถาปนิกและมัณฑนากรมืออาชีพ รวมถึงทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร