การขออนุญาตสร้างบ้าน
การขออนุญาตสร้างบ้าน เมื่อท่านต้องการสร้างนั้นสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือการขออนุญาตในเรื่องต่างๆ แล้วท่านรู้หรือไม่ว่าต้องทำอะไรบ้าง การสร้างบ้านในหนึ่งหลังนั้นต้องขออนุญาตกับทางเขตหรือเทศบาลรวมถึงการขอไฟฟ้าชั่วคราว การขอน้ำประปา ทะเบียนบ้าน และอื่นๆ มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้ผู้เขียนจะอธิบายให้ครบ ละเอียดในทุกๆเรื่องที่ท่านควรทราบ
การสร้างบ้านนั้นมีขั้นตอนการติดต่อราชการตั้งแต่ต้นจนจบดังนี้
1 การโอนที่ดิน การสร้างบ้านนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องหาซื้อที่ดิน อ่านบทความการเลือกหาซื้อที่ดินได้ที่นี่ คลิก เมื่อท่านตกลงซื้อที่ดินกับผู้ขายเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ขั้นตอนการโอนในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เพียง “สัญญาจะซื้อจะขายที่ทำการซื้อการซื้อขายกัน” และ “บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง” ในปัจจุบันใช้เพียงแค่นี้ อาจมีบางแห่งที่ใช้สำเนาบ้าง แต่ทางสำนักงานที่ดินส่วนใหญ่ต้องการลดความยุ่งยากในเรื่องเอกสารจึงใช้แค่เอกสารตัวจริงและผู้ที่เป็นเจ้าของบัตรนั้นเท่านั้นเอง การใช้สัญญาจะซื้อจะขายประกอบก็เพื่อคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายหรือไม่จ่ายหรือไม่ ส่วนการคำนวณค่าโอนนั้น อ่านได้ที่นี่ คลิก โดยปรกติแล้วหากไปถึงคิวแรกๆในช่วงเช้าและช่ายบ่าย จะใช้เวลาไม่เกินครึ่งวันเท่านั้นก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการโอน
2 การขอรังวัดที่ดิน เมื่อโอนที่ดินเสร็จสิ้นแล้วควรต้องทำการรังวัดเพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินให้ชัดเจนก่อนการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังกับที่ดินข้างเคียง เว้นเสียแต่ที่ดินนั้นเคยรังวัดมาแล้วโดยเจ้าของเก่าหรือรังวัดมาก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ โดยการขอรังวัดใช้หลักฐานประกอบ ดังนี้ (1)บัตรประจำตัว ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (2)โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อยื่นเอกสารรับบัตรคิวเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ก็จะนัด วัน เวลา ในการเข้ารังวัดอีกครั้ง ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2000-5000 แต่ละเขตอาจมีข้อกำหนดที่ไม่เหมือนกัน เวลานัดที่ได้นั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ 20-45วัน หรืออาจเร็วกว่านั้นขึ้นกับจำนวนงาน แต่หากอยากให้เร็วหรือด่วนขึ้น ท่านสามารถใช้บริการภาคเอกชนก็ได้ จะได้คิวที่เร็วขึ้น ไม่เกิน7วัน แต่อาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า โดยปรกติ 5,000-10,000
3 การขออนุญาตก่อสร้าง นั้นมีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต่างกันขึ้นกับแต่ละสถานที่ที่ไปขอ การออกแบบทีต้องมีลายเซ็นสถาปนิก วิศวกร หรือไม่มีนั้นเป็นสิ่งที่หลายท่านอยากรู้ การมีหรือไม่มีนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านโดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
3.1 กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตร.ม. คานทุกจุดยาวไม่เกิน 5 เมตร ไม่มีชั้นไหนสูงเกิน 4 เมตร ไม่จำเป็นต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นแบบรับรอง ท่านสามารถนำแบบที่มีไปยื่นขออนุญาตกับทางเขตได้เลย เพราะเป็นบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ไม่เป็นอันตรายมากต่อผู้พักอาศัยเท่ากับบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่า ทางเขตเทศบาลจึงอนุโลมให้ช่างที่มีประสบการณ์สามารถสร้างได้เองโดยที่ไม่ต้องมีผู้ควบคุม
อ้างอิง : ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๒๘)
“การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่อยู่ในเขตสุขาภิบาลหรือเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่มิได้อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดการตามมาตรา 8 (10) หรือประกาศที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกตามมาตรา 13 ใช้บังคับ ถ้าเป็นอาคารดังต่อไปนี้ ให้แนบเฉพาะแผนผังบริเวณแสดงที่ตั้งอาคารโดยสังเขปและสำเนาเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมกับคำขอ
(ก) อาคารอยู่อาศัยไม่เกินสองชั้นและมีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร
(ข) อาคารเก็บผลิตผลทางกาเกษตที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันรวมกันไม่เกิน 100 ตารางเมตร
(ค) อาคารเลี้ยงสัตว์ที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันรวมกันไม่เกิน 100 ตารางเมตร
(ง) รั้ว กำแพง ประตู เพิงหรือแผงลอย
(จ) หอถังน้ำที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ”
คู่มือกฎหมายควบคุมอาคารฉบับประชาชน คลิก
คำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง2564 เอกสารขออนุญาต คลิก
3.2 กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยเกิน 150 ตร.ม. คานทุกจุดยาวไม่เกิน 5 เมตร ไม่มีชั้นไหนสูงเกิน 4 เมตร จำเป็นต้องมีสถาปนิกเซ็นแบบ ส่วนวิศวกรไม่จำเป็น บ้านในลักษณะนี้ใหญ่กว่าแบบแรกแต่เนื่องจากมีขนาดคานไม่ยาวเกินไปรวมถึงความสูงเพดานไม่มากจึงยังอยู่ในมาตราฐานความปลอดภัยที่พอรับได้จึงใช้เพียงสถาปนิกเว้นรับรองเท่านั้น
3.3 กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตร.ม หากมีคานจุดใดจุดหนึ่งยาวเกิน 5 เมตร หรือมีชั้นใด ชั้นหนึ่งสูงเกิน 4 เมตร จะต้องมีวิศวกรเซ็นแบบ ส่วนสถาปนิกไม่จำเป็น เนื่องจากวิศวกรมีความสามารถในการคำนวณได้จึงใช้เพียงวิศวกรคำนวณและเซ็นเพียงอย่างเดียว
3.4 กรณีบ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยเกิน 150 ตร.ม หากมีคานจุดใดจุดหนึ่งยาวเกิน 5 เมตร หรือมีชั้นใด ชั้นหนึ่งสูงเกิน 4 เมตร หรือสูง 3 ชั้นขึ้นไป จะต้องมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นแบบ อันนี้เข้าข่ายความปลอดภัยที่ต้องมีการคำนวณอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเอง
4 การขอไฟฟ้าชั่วคราว การก่อสร้างจำเป็นต้องมีการใช้ไฟฟ้า จึงต้องมีการขอใช้ไฟฟ้าชั่วคราวจากการไฟฟ้าเพื่อใช้ในการก่อสร้าง จำเป็นต้องเตรียมเอกสารและมีค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
การขอติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราว(ใช้ในการก่อสร้าง, ปรับปรุงบ้าน)
1. สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง (ถ้ายังไม่ได้ให้ถ่ายใบคำขอมาแทน)
4. โฉนดที่ดินสถานที่ขอใช้ไฟ
5. หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีผู้ขอไม่มาดำเนินการ)
6. สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
หมายเหตุ การขอมิเตอร์ชั่วคราวต้องเตรียมสายไฟฟ้าและคัทเอ้าท์หรือเบรกเกอร์ตามขนาดมิเตอร์มาในวันชำระเงินด้วย
5 การขอน้ำประปา เนื่องจากการก่อสร้างนั้นจำเป็นต้องมีการใช้น้ำประปาเป็นองค์ประกอบของงานด้วย ดังนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องมีการใช้น้ำ จึงจำเป็นต้องมีการขออนุญาตกับทางการประปานครหลวงหรือการประปาส่วนภูมิภาค ขึ้นกับพื้นที่นั้นๆ แบบฟอร์มการขอและเอกสารที่ใช้สำหรับการ ประปาส่วนภูมิภาค คลิก , การประปานครหลวง คลิก
6 การขอทะเบียนบ้าน เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วจำเป็นต้องมีการขอทะเบียนบ้านเพื่อบันทึกลงสำมะโนครัว สิ่งที่ท่านต้องทำคือแจ้งขอเลขที่บ้านกับนายทะเบียนภายใน 15 วัน หลังจากสร้างบ้านเสร็จแล้ว โดยจะนับ 1 หลังจากวันที่สร้างบ้านเสร็จ เมื่อนายทะเบียนรับเรื่องแจ้งขอเลขที่บ้านจากเจ้าของบ้านมาแล้วพร้อมกับเอกสารและหลักฐานทั้งหมดอย่างครบถ้วน นายทะเบียนจะเข้ามาตรวจสอบ ถ้าถูกต้อง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านหรือนายทะเบียนจะกำหนดเลขที่บ้านให้แก่ผู้แจ้ง (เจ้าของบ้าน) หากกรณีบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาลจะได้ภายใน 7 วัน หรือกรณีบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาลจะได้ภายใน 30 วัน
มีเอกสารที่ต้องเตรียมดังนี้
- ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันท้องที่ที่บ้านที่ปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
- เอกสารแสดงการครอบครองที่ดินของบ้านที่ปลูกสร้าง อาทิ โฉนดที่ดิน, น.ส.3 และ ส.ป.ก เป็นต้น (หากปลูกสร้างบนที่ดินคนอื่นต้องมีหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้าง) ดังนี้
- หนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง(ใบอนุญาต) พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านที่รับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน
- หนังสือมอบอำนาจ กรณีไม่สามารถมาติดต่อขอเลขที่บ้านด้วยตนเอง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ รวมทั้งพยานบุคคล 2 คน ลงรายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือบนหนังสือมอบอำนาจ อย่าลืมรับรองสำเนาถูกต้องด้วยทุกฉบับ
- รูปถ่ายทั้ง 4 ด้าน ของบ้านที่ปลูกสร้าง นั่นก็คือ ด้านหน้า/หลัง ด้านซ้าย/ขวา
เมื่อเสร็จขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านแล้วจึงไปขอจดขึ้นทะเบียนใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาโดยให้ยกเลิกการใช้ชั่วคราวเพื่อขอติดตั้งมิเตอร์ จึงเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการติดต่อราชการสำหรับการสร้างบ้าน
การสร้างบ้านซักหนึ่งหลังนั้นเป็นความสุขอย่างหนึ่งของเจ้าของบ้านอย่างแน่นอน เพราะอาจเป็นความฝันที่ต้องการมาช้านาน และการสร้างบ้านนั้นก็ไม่ได้ทำกันได้บ่อยๆ ผู้เขียนเชื่อว่าถึงแม้การติดต่อราชการนั้นอาจมีขั้นตอนที่น่าเบื่อยุ่งยากอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าก็เป็นขั้นตอนที่แฝงไปด้วยความสุขอย่างมากของเจ้าของบ้าน เพราะอย่างน้อยก็เป็นบ้านหลังที่ท่านไผ่ฝันอยากมีอยากสร้างมาตั้งแต่ต้น ผู้เขียนจึงขอให้ท่านมีความสุขกับบ้านในฝันที่ท่านต้องการนะครับ
>>อ่านเพิ่มเติมบทความกฎหมายก่อสร้างได้ที่นี่ คลิก
>>อ่านเพิ่มเติมการเลือกทิศบ้านให้ได้ประโยชน์สูงสุดได้ที่นี่ คลิก
“เราเป็นมากกว่าบริษัทรับออกแบบก่อสร้างและรีโนเวทตกแต่ง เพราะนอกจากเสนองานออกแบบที่มีคุณภาพให้แก่ท่านแล้ว เรายังให้ความรู้ในการก่อสร้างเบื้องต้นให้แก่ท่านด้วยด้วย เพราะความรู้ที่ถูกต้องนั้น จะช่วยให้ท่านรู้จริง รู้ทัน อันจะทำให้ท่านได้รับแต่สิ่งที่ดีที่ถูกต้องนั่นเอง” บริษัทเรารับออกแบบก่อสร้าง รีโนเวท และตกแต่งภายในอาคารทุกประเภทด้วยสถาปนิกและมัณฑนากรมืออาชีพ รวมถึงทีมช่างคุณภาพประสบการณ์มากกว่า20ปี โดยท่านสามารถส่งความต้องการมาหาเราได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
สนใจติดต่อ งานออกแบบตกแต่งภายในและรีโนเวทอาคาร